เงินค่าจำนำข้าว โกงจนไม่มีจ่าย
ถามว่ารัฐบาล 'รักษาการ' มีสิทธิลดวงเงินกู้หรือไม่ คำตอบคือคิดว่าน่าจะทำได้ เพราะไม่เป็นการสร้างภาระผูกพันให้กับรัฐบาลใหม่ตามที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งกำหนดไว้ แต่หากถามว่า รัฐบาลมีสิทธินำวงเงินที่ตัดจากโครงการหนึ่งไปจัดสรรให้กับโครงการใหม่หรือไม่ คำตอบคือไม่มีสิทธิ และกรณีนี้มีการกระทำอย่างลับๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถูกข้าราชการที่ยังมีจิตสำนึกท้วงติงมากมาย ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ รัฐบาลจะโยกเงินลงทุนจากโครงการ 2 ล้านล้าน มาจ่ายจำนำข้าวแทน ซึ่งขัดกันเองกับตอนขึ้นศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า จำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ แต่อยู่ๆ โยกวงเงินมาเฉยเลย
กลับมาที่ประเด็นกฤษฎีกา รัฐบาลอธิบายว่าได้ถามกฤษฎีกาแล้วว่ากู้ได้ เพราะการจำนำข้าวฤดูกาล 56/57 เป็นโครงการที่ครม.ได้อนุมัติไว้ตั้งแต่ก่อนยุบสภาฯ ปัญหาคือโครงการนี้ได้รับการอนุมัติจริง แต่การกู้เงินยังไม่มีการอนุมัติ คือรัฐบาลศรีธนญชัยถามลอยๆ แบบไม่ลงลึกให้กฤษฎีกาเข้าใจผิด ตีความผิด และนี่ก็คือข้อท้วงติงที่ว่า ไม่ผ่านกฤษฎีกาด้านการคลัง จึงไม่น่าจะได้รับข้อมูลที่ดีพอในการขอกู้ และอย่างที่ย้ำหลายครั้งแล้วว่า ตามจริงแล้วรัฐบาลควรมีรายได้จากการขายข้าว ไม่ควรต้องมากู้เงิน หรือถ้ากู้ ก็มีวงเงินกู้จำกัดอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินนี้เต็มแล้ว ไม่เคยมีมติครม. ให้เปลี่ยนแปลง (และจะเพิ่มเพดานในช่วงรักษาการก็ไม่ได้) และวงเงินนี้ก็เป็นวงเงินที่ทางรัฐบาลยิ่งลักษณ์เองนี่แหละตั้งเอาไว้เองแต่แรก
อีกข้อเท็จจริงหนึ่งที่ประชาชนต้องรู้คือ "กระทรวงการคลังไม่กล้าเปิดเผยรายละเอียดคำตอบจากกฤษฎีกา และมีรายงานว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เป็นความเห็นของเลขาฯเท่านั้น โดยปกติเรื่องเล็กๆพิจารณาโดยเลขาฯได้ แต่เรื่องใหญ่ถ้ารายงานนี้เป็นจริงต้องถือว่าอย่างนี้ผิดปกติ” นี่คือข้อความอดีตรมว.คลัง กรณ์ จาติกวณิช ที่เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีต้องใช้ความเห็นกฤษฎีกาในการบริหารประเทศหลายต่อหลายครั้ง ชี้ข้อสังเกตไว้ให้
คราวนี้ ขาผู้จะขอกู้ ดูไปแล้วก็ผิดปกติแทบทุกอย่าง มาดูขาผู้ให้กู้บ้าง โดยปกติก่อนจะอนุมัติเงินกู้ ธนาคารต้องตรวจเช็คข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้ให้ครบถ้วน (ภาษาการเงินเขาเรียกว่า Due Diligence) ฝ่ายกฎหมายธนาคารต้องตรวจเช็คว่ารัฐบาลมีอำนาจทางกฎหมายที่จะกู้เงินจริงหรือไม่ และโดยเฉพาะหากเป็นธนาคารเอกชน เรื่องแบบนี้ต้องเคร่งครัดเป็นพิเศษ เพราะมีประชาชนที่เป็นผู้ถือหุ้นรอฟ้องอยู่ด้วยเช่นกัน ถ้าอนุมัติไปแล้วปรากฏในภายหลังว่า เป็นการกู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็คงต้องไปฟ้องเอาเงินคืนจากนักการเมืองและข้าราชการที่อนุมัติ เพราะประชาชนคงไม่ยอมให้มีการคืนหนี้ด้วยเงินภาษีของเขาแน่นอนหากเป็นแบงก์รัฐ และเงินลงทุนของเขา หากเป็นแบงก์เอกชน
สิ่งที่ควรทำแต่แรก คือระบายข้าวเพื่อเอาเงินมาชดใช้ชาวนา และถ้าวันนั้นปรากฏว่าข้าวไม่มี หรือถ้ามีก็เน่าหมดแล้ว เราจะได้รู้ข้อเท็จจริง และจะได้จบๆ กันไปเสียทีกับนโยบายอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยอันนี้
ถัดมา ว่าด้วยการหมดเครดิตทางการเงินของรัฐบาล ตามที่กล่าวไปข้างต้น ไม่มีธนาคารใดกล้าให้กู้เลย จะมีก็แค่ธนาคารที่ไปเสนอราคาเพียงธนาคารเดียวและเสนออัตราดอกเบี้ยสูงมาก จนทำให้การประมูลต้องล้มไป ความหมายคือรัฐบาลหมดเครดิต แม้แต่จะกู้เพียง 2 หมื่นล้านบาท ยังกู้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจากธนาคารรัฐหรือธนาคารพาณิชย์ก็ตาม เหตุหลักก็ตามที่อธิบายไล่เรียงมาครับว่า เพราะธนาคารต่างๆไม่มั่นใจว่ารัฐบาลมีสิทธิที่จะกู้เงินในช่วงรักษาการ หรืออาจเป็นเพราะไม่มีใครอยากมีส่วนสนับสนุนโครงการจำนำข้าวนี้อีกต่อไป
แทนที่จะเร่งระบายข้าวเอาเงินมาให้ชาวนา เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะได้เงินมาจริงๆ รัฐบาลกลับมีทีท่าจะมากดดันธนาคารของรัฐให้ปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ เพราะมีคนของตัวเองอยู่ในบอร์ดธนาคารรัฐหลายแห่งที่ชี้นิ้วสั่งได้ โดยจะมีการล่นแร่แปรธาตุทางการเงินมีการพยายามเลี่ยงไม่ให้การกู้ยืมนี้ผูกพันกับการจำนำข้าวโดยตรง แต่โยกมาโดยไม่ต้องระบุว่า สุดท้ายแล้วเอาไปใช้กับโครงการใด จากนั้นคลังก็จะเอาไปปล่อยต่อกับธกส. แต่ทั้งหมดนี้เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีมติรัฐบาลใดก่อนยุบสภา ที่ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังปล่อยกู้กับ ธ.ก.ส.เช่นเดียวกัน
ขอสรุปจบด้วยบทความในเพจเฟซบุ๊คคุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง Korn Chatikavanij ครับ “ไม่มีใครไม่เป็นห่วงหรือไม่เห็นใจชาวนา แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือระบายข้าวทันที ไม่ใช่มาสร้างภาระหนี้อย่างผิดกฎหมาย แล้วมาชี้นิ้วโทษคนอื่นเมื่อเขาเลือกที่จะไม่มาร่วมทำผิดกับคุณ ปัญหาวันนี้มาจากการทุจริตโกงกินบนหลังชาวนา ใครเข้ามาร่วมด้วยตอนนี้ต้องคิดให้ดี"
สุดท้ายนี้ขออนุญาตเอาสถิติตัวเลขมาให้ดูกันครับว่า ชาวนาที่เดือดร้อนอย่างหนักจากนโยบายจำนำข้าวนี้ อยู่ที่ไหนกันบ้าง จาก ใบประทวนรอบฤดูกาลจำนำข้าว 56/57 จำนวน 1.8 ล้านใบประทวน ติดค้างค่าจำนำข้าว 1.4 ล้านใบ ภาคอีสาน 8 แสนใบ ภาคเหนือ 5 แสนใบ แต่พอมาแยกเป็นรายจังหวัด มีการจัดอันดับมูลค่าของเงินค่าจำนำข้าวที่ชาวนายังไม่ได้รับแยกเรียง “10 จังหวัด ที่ชาวนาเดือดร้อนมากที่สุด" พบว่า อันดับ 1. นครสวรรค์ เบี้ยวเงินค่าข้าวชาวนารวม 8,500 ล้านบาท 2. กำแพงเพชร 7,900 ล้านบาท 3 .พิจิตร 7,400 ล้านบาท 4. อุบลราชธานี 6,900 ล้านบาท 5. พิษณุโลก 6,600 ล้านบาท และอันดับ 6-10 สุรินทร์ โคราช ศรีสะเกษ สุโขทัย และกาฬสินธุ์
ประชาชนทั้ง 10 จังหวัดนี้ ต้องตั้งคำถามอย่างหนักครับว่า ...ยังจะกล้ามาหาเสียงให้พวกเรากลับไปกาเบอร์ของพรรคที่ออกนโยบายจำนำข้าวอีกหรือ ไม่เคยมีความละอายต่อบาปบ้างเลยใช่ไหม
พอกันทีครับ กับจำนำข้าว