วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
"The Farmer of Thailand" TIME - ปูดเงิน "จำนำข้าว" ล่องหน1.15แสนล้าน
"วิชัย" เปิดเส้นทางรัฐขายข้าวในสต็อกให้บริษัทนายหน้า เครือข่ายการเมือง ราคาถูกกว่าตลาดถึง 50 % ปริมาณ 12.75 ล้านตัน ขาดทุน 1.15 แสนล้าน
"กรุงเทพธุรกิจ"สัมภาษณ์นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย หลังเข้าให้ปากคำต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวโดยเฉพาะในขั้นตอนการระบายสต็อกและผลเสียหายจากโครงการ
นายวิชัย กล่าวว่า ปปช.ได้เรียกไปให้ถ้อยคำ การดำเนินการโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล โดยการส่งออกของไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเสียแชมป์ไปให้กับอินเดียและเวียดนาม โดยยอดส่งออกลดลง 35%ในปี 2555 มูลค่าที่ได้ก็ลดลง 25% ขณะที่ปี 2556 ปริมาณการขายข้าวก็ลดลงอีก2 % ขณะที่มูลค่าลดลง 6 % โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปริมาณลดลง 37 %มูลค่าลดลงรวม 31% เงินเข้าประเทศลดลงและยังมีข้าวค้างสต็อกอีกรวมปี 2556/57 เข้าไปเป็นปริมาณ 20 ล้านตัน
รัฐบาลใช้เงินไปกับการจำนำข้าว 7.8 แสนล้านบาท จ่ายเงินคืนจากการขายข้าวให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท หมายความว่าเงินทุก 100 บาทที่รัฐบาลจ่ายไปนั้นได้รับเงินกลับคืนมา 18 บาท
"วิชัย"ชี้2ปมใหญ่ทำเงินหาย
เขากล่าวว่า เม็ดเงินที่หายไปเกิดจาก1.การคอร์รัปชัน 2.ไปตั้งราคาสูงกว่าตลาดเกิน 50% ทั้ง 2 ประเด็นทำให้รัฐบาลเงินหายไปประมาณ 2 ใน 3
"ผมคำนวณดูต้นทุนการจำนำข้าวต้นทุนต่อกิโลกรัมใกล้ๆ 30 บาทหรือ 29 บาทเศษ พ่อค้าส่งออกขายไปต่างประเทศราคาตลาดเฉลี่ย 20-21 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลกลับนำข้าวออกขายให้กับบริษัทนายหน้าหรือหน้าม้าของตัวเองเฉลี่ย 10-11 บาทต่อกิโลกรัม เกิดส่วนต่างที่ไปเข้ากระเป๋ากระบวนการพวกนี้กว่าแสนล้านบาท เมื่อคิดรวมๆทั้งหมดจากวิธีการเช่นนี้ตัวเลขกลมๆทุนกิโลกรัมละ 30 ได้เงินคืนมากิโลกรัมละ 10 บาท ทั้งหมดแล้วเงินที่เสียหายเฉียด 5 แสนล้าน จากเงินเกือบ 8 แสนล้านที่จ่ายไป"
นายวิชัย กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาส่งออกได้ปีละ7 ล้านตัน แต่ปีที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณ 6.6 ล้านตัน ดังนั้นข้าวที่เหลือในสต็อกอีก 20 ล้านตัน ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี หากส่งได้ปีละ 7 ล้านตัน คงต้องใช้เวลา 3 ปีถึงจะขายหมด
"ผมว่ามันรุนแรงมาก ทำกันจนกระทั่งเงินเข้าประเทศที่จะเอามาคืนโครงการรับจำนำก็คืนไม่ได้ เอาเงินไป 7-8 แสนล้าน คืนมาได้แค่ 1.4 แสนล้านบาทช่วง 2 ปีนี้ นั่นหมายถึงทุกๆ100 บาท เอามาคืนได้แค่ 18 บาท ถ้า Cash flow เป็นแบบนี้ มันทำต่อไม่ได้แน่นอน ชาวนาก็รอเงินค่าข้าวใบประทวนมาแล้วแต่ไม่ได้เงิน"นายวิชัย กล่าว
ตั้งราคาซื้อแพงต้นเหตุเสียแชมป์
นายวิชัย กล่าวว่าในอดีตเมื่อ 30 ปี เราเป็นแชมป์เพราะใช้วิธีกลไกตลาดค้าขาย เกษตรกรจะปลูกมากหรือน้อย สามารถขายให้หมดในราคาที่ดีที่สุดเท่าที่ให้ได้ แต่เวลานี้รัฐบาลมาต่อว่าพ่อค้า โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วบอกว่า พ่อค้า แข่งราคากัน ตัดราคากันจนทำให้เกษตรกรยากจนได้ราคาไม่ดี
"ผมบอกว่าถ้าราคาไม่ดี เกษตรกรไม่ปลูกมากหรอกช่วง 30 ปี ที่เราเป็นแชมป์โลก เขาก็พออยู่ได้ เราก็พออยู่ได้ กลไกตลาดมันบังคับ ให้พ่อค้าคนกลางอย่างผม เอาใจผู้ปลูกก็ไม่ได้ เอาใจผู้ซื้อก็ไม่ได้ ต้องเป็นคนกลางจริงๆเพื่อให้ 2 ฝ่ายอยู่กันได้ เราก็ทำสำเร็จ เวลานี้มีปัญหาเพราะเกษตรกรปลูกข้าว และเริ่มไม่ได้ตังค์ เพราะตั้งราคาสูงเกินไป"
ดังนั้นวิธีแก้ก็ต้องกลับไปที่กลไกตลาดง่ายที่สุด และต้องกลับไปให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะให้สมดุล เพราะราคาเป็นเรื่องหลักในกลไกตลาดทั่วโลก ถ้าตั้งราคาผิดเมื่อไหร่ มีเรื่องกรณี ของไทยมีการตั้งราคา ที่สูงกว่าตลาด 50%จึงขายได้น้อยลง เป็นเรื่องที่ผิดไม่ควรทำ กลไกตลาดไม่มีใครให้ตั้งราคาแบบ ซี้ซั้ว แต่รัฐบาลกล้าตั้ง ตั้งราคาเดียว 2 ปี มีที่ไหนราคาสินค้าเกษตรแบบนี้
โวยอ้างพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ
นายวิชัย กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลบอกว่าที่ผ่านมา พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบชาวนาเลยต้องตั้งราคาแบบนี้ นายวิชัย มองว่านี่เป็นข้ออ้าง จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ พ่อค้าคนกลางมีฐานะดีกว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ เราได้กำไรน้อยมาก 1-2% ในการค้าข้าว แต่เราร่ำรวย เพราะแต่ละคนส่งข้าวเป็นแสนเป็นล้านตันไม่กี่คน ส่วนเกษตรกรได้กำไรมากว่าอยู่ที่ 50% หรือไม่ก็ 100% แต่เขายังจน เพราะเขามีข้าวไม่กี่ตันต่อราย พอคูณออกมาก็ได้เงินนิดเดียว จึงทำให้เกษตรกรร่ำรวยไม่ได้ ที่สำคัญเกษตรกรมีจำนวนมากมีที่นาจำกัด นั่นคือปัญหาหลัก แต่ประชาชนไม่เข้าใจ
ตั้งราคาสูงหลอกชาวนา
ส่วนรัฐบาลพอมาเล่นการเมืองก็หลอกประชาชน ว่าจะตั้งราคาให้สูงๆ แต่ไม่ยอมบอก ว่าตั้งราคายิ่งสูง ยิ่งขายไม่ได้ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ราคาเราสูงเกินไปจึงขายลดลงไป 37% ไม่ใช่ตั้งราคาสูงแล้วขายได้ เงินเข้าประเทศก็น้อย แต่เกษตรกรไม่รู้เรื่องนี้ ถ้าเมื่อไหร่ เขารู้ว่าที่พ่อค้าให้ราคาเป็นราคาที่เหมาะสมที่สุดทำได้ทุกปี ตลอด 30 ปี ที่ทำมาจนเป็น แชมป์ เพราะราคาที่ตั้งมันยุติธรรมเหมาะสม ถึงได้ชนะ แต่พอรัฐบาลเข้ามาชก 2 ปีก็ไปแล้ว จนจ่ายเงินให้เกษตรไม่ได้ ถือเป็นบทเรียนชัดเจนว่า ราคายุุ่งไม่ได้ แต่ต้องช่วยเกษตรกรด้วยวิธีอื่น จุนเจือเรื่องรายได้
ปูดขบวนการหน้าม้าค้าข้าว
นายวิชัย ย้ำว่าปัญหาใหญ่ของวงจรจำนำข้าว มี 2 ประเด็น 1.ตั้งราคาผิด 2.มีการคดโกง เพราะรัฐบาลหลังจากหมอวรงค์ (นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม) ออกมาเปิดเผยในสภา และนอกสภา ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่ามีหน้าม้า ขบวนการซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ราคาถูก และถูกกว่าตลาดมาก เป็นขบวนการที่เมื่อก่อนคิดไม่ออก จนกระทั่งหมอวรงค์ มาเปิดเผยว่าเสี่ยเปี๋ยง เป็นใคร โจ เป็นใคร ทุกคนเกี่ยวข้องกับการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นของปลอม แต่อ้างให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลขายข้าว แต่ไม่รู้ว่าขายไปราคาเท่าไหร่ ส่วนตนรู้ว่าราคาเท่าไหร่ เพราะตนคำนวณได้อยู่ที่กิโลกรัมละ10 บาท
"ผมเลยจับ 2 เรื่องมาชนกัน เรื่องที่คุณหมอวรงค์ นำมาเปิดเผยว่ามันมีหน้าม้า ชื่อนั้นชื่อนี้ จีทูจี ใครตัวแทนใครผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็โยงใยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกัน แล้วก็มาซื้อข้าวจากรัฐบาลได้ 10 ล้านตัน รัฐบาลขายข้าวทั้งหมดประมาณ 13 ล้านตันข้าวสาร ได้เงินคืนธ.ก.ส ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท แล้วพวกหน้าม้าเอามาขายต่อให้ผู้ส่งออกที่ต้องกราบกรานซื้อในราคา 20 บาทต่อกก. ทำภายใต้ 2 เรื่อง คือจีทูจี 10 ล้านตัน ทำข้าวถุงอีกไม่รู้เท่าไหร่ ขายกิโลกรัมละ 8 บาทกว่าบางกรณีข้าวกิโลละ 5 บาทกว่า มันไม่มีข้าวในตลาดที่ถูกแบบนี้ จะด้วยวิธีอะไร แต่มีหน้าม้า มาซื้อได้ ราคาถูก เงินก็รั่วไหล น่าจะเป็นแสนกว่าล้าน เฉพาะที่ขายแล้ว ที่เรายังไม่รู้อีกก็ยังคำนวณไม่ได้ " นายวิชัย ระบุ
อย่างไรก็ตาม หากนำสต็อกทั้งหมดประมาณ 26-27 ล้านตัน ถ้า 1 ตันหายไป 10 บาท เท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท ที่หายไปมันเรื่องใหญ่มากที่ได้กำไรง่ายๆ พวกเราก็ไม่มีข้าวจะส่งออกต้องวิ่งไปกราบไหว้คนที่มีข้าวคือหน้าม้า เขาตั้งราคามา อยากได้กิโลกรัมเท่าไหร่ก็ต้องเอา เลยทำให้ยอดส่งออกลดลงเกือบ 40% เพราะราคาที่เขามาบังคับให้เราซื้อแพงเกินไปเลยเป็นปัญหา