สมาคมอั้งยี่กำเริบ ทหารฝรั่งเศสช่วยปราบ
เมื่อฝรั่งเศสเข้าไปตั้งอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีแล้วไม่กี่ปี ระหว่างพ.ศ.2438-2439 (ร.ศ.114-115) ก็เกิดมีสมาคมอั้งยี่ขึ้น 2 คณะ คณะหนึ่งใช้สมนามสมญาว่า “งี่ฮก” สำนักตั้งอยู่ที่ตำบลวัดใหม่ อำเภอเมืองจันทบุรีแห่งหนึ่งมีนาย อำภณ วิเศษประสิทธิ์ บุตรพระประสิทธิ์พลรักษ์ กรมการพิเศษเป็นหัวหน้า (หลวงสาครฯคงจะใส่นามสกุลที่เกิดขึ้นภายหลังเข้าในบันทึกไปเลยไม่ได้ใช้เฉพาะชื่อตนตามยุคสมัย อีกทั้งชื่อจังหวัดก็เรียกแบบยุคหลังไม่ได้เรียกว่าเมืองจันทบุรีอันเป็นเชื่อก่อนตั้งมณฑลเทศาภิบาล—บัณรส) อีกคณะหนึ่งมีนามสมญาว่า “งี่เฮ็ง” สำนักงานตั้งอยู่ที่ตำบลบางกะจะ อำเภอพลอยแหวน จังหวัดจันทบุรีแห่งหนึ่ง มีนายง่วนเส็ง บุตรนายเช้า (ชาติจีน) เป็นหัวหน้าสมาคมอั้งยี่
ทั้งสองคณะนี้ไม่มีความสามัคคีปรองดองกัน ต่างหมู่ต่างคณะได้ถืออำนาจในพวกเหล่าของตนคุมสมัครพรรคพวกทำร้ายซึ่งกันและกันอยู่เป็นเนื่องนิตย์บรรดาประชาชนคนใดไม่เข้าในคณะใดพวกอั้งยี่ก็เที่ยวกรรโชกขู่เข็ญทำร้ายประชาชนพลเมืองโดยพลการอยู่เนืองๆ บางครั้งคุมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นแย่งชิงทรัพย์สินพลเมืองก็มี นอกจากนี้ความยังปรากฏว่าบรรดาพวกพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในท้องที่อำเภอพลอยแหวนซึ่งเคยน้ำสินค้ามาจำหน่ายขายให้แก่พลเมืองทางท้องที่อำเภอเมืองแล้ว พวกคณะอั้งยี่ทางฝ่ายคณะงี่เฮ็งก็ประกาศห้ามปราม................
และความเดือดร้อนทั้งนี้ไม่ได้มีแต่พลเมืองฝ่ายเดียวเลยพลอยทำให้กองทหารฝรั่งเศสก็มีส่วนได้รับความเดือดร้อนด้วยเหมือนกัน กล่าวคือกองทหารฝรั่งเศสก็ต้องอาศัยสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าทางเขตอำเภอพลอยแหวนเหมือนกันเมื่อความเดือดร้อนของพลเมืองตลอดจนกองทหารฝรั่งเศสไม่ได้รับความสะดวกเช่นนี้แล้ว...........
ก็มาขอร้องให้ทางบ้านเมืองจัดการปราบปรามแต่เวลานั้นทางฝ่ายบ้านเมืองก็ไม่มีกำลังพาหนะ ตำรวจหรือพลตระเวนอย่างใดที่จะทำการระงับปราบปรามอั้งยี่ให้เป็นที่เรียบร้อยได้ จึงนับว่ายุคนั้นที่จันทบุรีแม้แต่ตามถนนตลาดประชาชนพลเมืองก็มีความหวาดเกรงภัยของคณะอั้งยี่อยู่ถ้วนหน้า...........
ทางฝ่ายบ้านเมืองจึงได้ปรึกษาทำความตกลงกับกองทหารฝรั่งเศสผลที่สุดฝ่ายกองทหารฝรั่งเศสจัดกำลังทหารฝรั่งเศสมอบให้แก่ทางบ้านเมืองทำการปราบปรามจับกุมอั้งยี่ทั้งสองคณะนี้โดยความร่วมมือกับพนักงานฝ่ายบ้านเมืองออกเที่ยวสืบจับตามตำบลต่างๆ มีตำบลบางกะจะ ตำบลวัดใหม่และที่แห่งอื่นๆ เป็นต้น เจ้าพนักงานฝ่ายไทยที่ควบคุมทหารฝรั่งเศสและพลเมืองออกไปสืบจับพวกอั้งยี่นั้นคือท่านพระยาเดชานุชิตเป็นหัวหน้า หลวงพรหมเสนากับหลวงศรีรองเมืองเป็นผู้ช่วยทำการจับกุมอั้งยี่ทั้งสองคณะได้พรรคพวกและหัวหน้าสำคัญหลายคนมีนายอำภณและนายง่วนเส็งเป็นต้น แล้วจัดการนำตัวส่งไปกรุงเทพฯ ต่อมาปรากฏว่าหัวหน้ากับพรรคพวกถูกรับพระราชอาญาจองจำกักขังไว้หลายๆ ปี ตั้งแต่นั้นมาสมาคมอั้งยี่ก็แตกหมู่แตกคณะควบคุมกันไม่ติดและไม่มีสมาคมใดที่คิดตั้งคณะอั้งยี่ขึ้นมาอีก นับว่าเหตุการณ์เรื่องอั้งยี่เป็นปกติเรียบร้อยมาจนบัดนี้. |