Menu Bar

วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

ผลจากการปล้นประเทศไทย




















เรื่อง “นายกฯ คนกลาง” ยังคงเป็นข่าวร้อนในสังคมไทย โดยเฉพาะหลังจากบรรดาผู้นำ 6 องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ ประกาศว่าจะแถลงข้อสรุปทางออกประเทศตามที่พวกเขาได้ไปประชุมปรึกษาหารือกันเองในวันจันทร์ที่จะถึงนี้
...
ความพยายามผลักดันให้มีนายกคนกลาง โดยข้ออ้างว่า รักษาการรัฐบาลนี้หมดความชอบธรรมไปแล้วเพราะโกงกินอย่างชั่วช้ามาตั้งแต่ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และโดยข้ออ้างว่า เดี๋ยวนี้ใครๆ ในโลกตะวันตกก็รู้กันทั้งนั้นว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง” และ “ประชาธิปไตยล้มเหลวเพราะการเลือกตั้งที่ไม่ถ่วงดุลอำนาจ”

พวกที่โง่งมงาย ไม่ยอมรู้ คงมีแต่ชาวบ้าน นักวิชาการ กับสื่อในประเทศไทยซึ่งเป็นขี้ข้าทักษิณเท่านั้น เอาแต่กอดตำราประชาธิปไตยเก่าๆ ของตะวันตก พูดซ้ำๆ ย้ำไปมาว่า ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ต้องมีเลือกตั้ง

บทความเมื่อเร็วๆ นี้ของ “กาแฟดำ” หรือคุณสุทธิชัย หยุ่น ผู้ได้ชื่อว่าเป็นครูคนหนึ่งในวงการสื่อมวลชนไทย ใน “กรุงเทพธุรกิจ” สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่อง “ประชาธิปไตยล้มเหลวเพราะเลือกตั้งโดยไม่ถ่วงดุลอำนาจ” ซึ่งอ้างอิงจากบทวิเคราะห์ประชาธิปไตยความยาว 6 หน้า “What’s gone wrong with democracy” ใน The Economist เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน ก็ย้ำเป็นนัยว่านักการเมืองเลวของไทยซึ่งใช้นโยบายประชานิยมสุดขั้วและทำตัวเป็น “เผด็จการรัฐสภา” คือต้นเหตุที่ทำให้ประเทศไทยไม่มี “ระบอบประชาธิปไตย” ในความหมายที่แท้จริง

หากอ่านเฉพาะบทความของคุณสุทธิชัย โดยไม่อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษ เราอาจอนุมานว่า ผู้เขียนบทวิเคราะห์ใน The Economist ยกประเทศไทยขึ้นมาเป็นตัวอย่างสำคัญของ “ประชาธิปไตยล้มเหลว” ที่ “ฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนไม่น้อยออกมาประท้วงกลางถนน คัดค้านการเลือกตั้งภายใต้กติกาเก่าที่ผู้กุมอำนาจได้เปรียบตลอดกาล หรือเลือกตั้งแล้วก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะความฉ้อฉลของผู้มีอำนาจ”

อันที่จริง ตัวอย่างสำคัญที่ผู้เขียนบทวิเคราะห์ใน The Economist นำมาอ้างนั้น เป็นเรื่ องราวที่เกิดขึ้นในรัสเซีย แอฟริกาใต้ และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เช่น อิรัก และอียิปต์

ชื่อของประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงในบทวิเคราะห์เพียงครั้งเดียวในลักษณะ “ข้อมูลเสริม” ว่า “ในประเทศบังกลาเทศ ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา พรรคฝ่ายค้านได้พากันคว่ำบาตรการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือไม่ก็ปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้ง”

น่าคิดตามที่บทวิเคราะห์ใน The Economist ชี้ว่า ประชาธิปไตยที่เคยเฟื่องฟูและเป็นความหวังของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบ ได้กลายเป็นระบอบการปกครองที่มีปัญหาในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ซึ่งประชาชนส่วนมากของโลกยังคงต้องการประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการรัฐบาลฉ้อฉลที่เป็นเผด็จการรวบอำนาจ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งแสดงพฤติกรรมแบบ kleptocracy (เคลปโตเครซี/แปลตรงตัวตามรูปศัพท์ในภาษากรีกคือการปกครองโดยพวกหัวขโมย) จึงไม่แปลกที่ประชาชนจำนวนมากในประเทศนั้นๆ จะลุกฮือขึ้นขับไล่

รวมถึงในประเทศไทยของเรา

แต่เฉพาะสำหรับประเทศไทย ซึ่งบทความ The Economist ไม่ได้กล่าวถึงก็คือ มีผู้เสนอว่า ถ้าพิจารณากันอย่างไม่เข้าใครออกใครแล้ว ข้อกล่าวหา kleptocracy ที่แปะอยู่บนหน้าผากคุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์นั้น ควรแปะบนหน้าผากของทุกคนในแวดวงการเมืองไทยที่กำลังทำสงครามกันอย่างเอาเป็นเอาตายด้วย ทั้งผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังและผู้แสดงตัวเบื้องหน้า อาทิ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำม็อบนกหวีด ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่าม็อบ กปปส. หรือม็อบ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ขณะคนไทยจำนวนหนึ่งบอกว่า ขออุทิศแรงกายแรงใจและเงินในธนาคารเพื่อปราบนักการเมืองชั่วหัวขโมยแล้วสร้างสรรค์การเมืองใหม่ใสสะอาด คนไทยอีกจำนวนหนึ่งก็บอกว่า ตลกมากที่จะร่วมขบวนการโจรจับโจร ยกย่องโจรคนหนึ่งเป็นวีรบุรุษ แล้วฝันเฟื่องว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะปราศจากคอร์รัปชั่

บทวิเคราะห์ใน The Economist ซึ่งมิได้กล่าวถึงประเทศไทยเป็นพิเศษ ชี้ว่า ประชาธิปไตยโลกเข้าสู่ยุคตกต่ำเมื่อก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุผลหลายประการอาทิ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในช่วงค.ศ. 2007 -2008 และการผงาดขึ้นมาของจีนในห้วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ซึ่งทำให้บทบาทของพี่เบิ้มอเมริกาในฐานะเจ้าพ่อประชาธิปไตยสั่นไหวอย่างรุนแรง เกิดคำถามว่าทำไมเราต้องฟังเสียงนักวิชาการประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศล้มเหลว

คำถามเหล่านั้นเกี่ยวเนื่องกับข้อสังเกตที่ว่า จีนไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งมักทำให้เรื่องง่ายๆ กลายเป็นเรื่องซับซ้อน แถมยังปล่อยให้พวกนักการเมืองปากหวานชักนำประชาชนไปในทางที่ผิดจนนำไปสู่ความไร้ระเบียบ แต่เพราะจีนปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งควบคุมทุกกลไกของประเทศ มีการฝึกและเตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่ที่คัดเลือกแล้วว่าเก่งและฉลาดเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ มีการเปลี่ยนผู้นำระดับสูงทุกสิบปี จีนจึงประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ราคาคุยแบบนี้ของจีนอาจทำให้เราๆ ท่านๆ หลายคนคิดถึงคุณจรัสพงษ์ สุรัสวดี หรือ “ซูโม่ตู้” ผู้เคยเปรียบคนจนไร้การศึกษาว่าเป็นลิงบาบูนไร้คุณภาพ ไม่สมควรมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะถูก หากพิจารณาจากความเจริญก้าวหน้าของจีนเทียบกับความถดถอยของอเมริกา แต่คงเพราะผู้เขียนบทวิเคราะห์นี้ยังมีเยื่อใยกับประชาธิปไตย จึงชี้ให้เห็นในที่สุดว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตอย่างไร รัฐบาลจีนก็มีปัญหามากในเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพพลเมือง

บทวิเคราะห์นี้ยังอ้างถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ว่าใช้อำนาจฉ้อฉลในทุกทางเพื่อให้ได้ประโยชน์ตนรวมถึงชนะการเลือกตั้ง อ้างถึงสงครามอิรัก ซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้ร้ายตัวฉกาจเพราะนับจากตัดสินใจส่งกองทัพบุกอิรัก ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย จนบัดนี้ก็ยังไม่มีทั้งเสรีภาพและประชาธิปไตยในอิรัก นอกจากนั้น ก็ยังอ้างถึงการปฏิวัติอียิปต์ในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งสถานการณ์ยังอึมครึมลากยาวถึงปัจจุบัน

สรุปสั้นๆ ว่าดอกไม้ประชาธิปไตยยังไม่เบ่งบานในตะวันออกกลาง เช่นเดียวกับในแอฟริกาใต้ และตุรกี และสรุปว่าแม้พวกเผด็จการจะถูกโค่นล้มลงไป แต่ฝ่ายที่ไปโค่นเขาก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน

ผู้เขียนบทวิเคราะห์บอกว่า เอาเข้าจริงๆ แล้ว การสร้างสถาบันทางประชาธิปไตยเพื่อค้ำจุนประชาธิปไตยเป็นงานที่ทำได้ช้ามาก ไม่ตรงกับแนวคิดที่เคยเชื่อกันว่าประชาธิปไตยจะเบ่งบานอย่างรวดเร็วหลังจากได้หว่านเมล็ดพันธ์ลงไปแล้ว

ผู้เขียนบทวิเคราะห์เสนอให้คิดว่า เวลานี้สถาบันทางประชาธิปไตยหลายสถาบันล้าสมัยไปแล้วในโลกใหม่ ซึ่ง “มันนี่ ทอล์ก” มีบทบาทสูงกว่าทุกอย่าง คนร่ำรวยมีอำนาจมากกว่าคนจน และในอเมริกาวันนี้ ประชาธิปไตยก็เหมือนมีไว้ขาย ซึ่งไม่ได้ต่างกันกับในยุโรป ที่แย่ก็คือบรรดานักการเมืองไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ แถมยังเน้นแต่นโยบายเฉพาะหน้าเอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สนใจการลงทุนระยะยาวซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสังคม

ในบทวิเคราะห์บอกว่าประชาธิปไตยที่ล้มเหลวเป็นเพราะให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งมากเกินไป และใส่ใจกับองค์ประกอบอื่นของประชาธิปไตยน้อยเกินไป อำนาจของรัฐจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบ และสิทธิส่วนบุคคลเช่นเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการจัดการชีวิตของตนเองต้องได้รับการคุ้มครอง

บทวิเคราะห์ชี้ภาพรวมของประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จว่าจะต้องทำตามหลักการที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายเข้าใจตรงกัน เช่น ไม่เปิดโอกาสให้ “เสียงส่วนใหญ่” ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบโดยไม่คำนึงถึงเสียงส่วนน้อย สนับสนุนการต่อต้านคอร์รัปชั่น มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐ ซึ่งสำคัญเช่นเดียวกับอำนาจในการออกเสียงเลือกตั้ง พัฒนาระบบประชาธิปไตยในประเทศให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้ เช่น จัดให้เปิดเผยรายชื่อผู้บริจาคเงินสนับสนุนพรรคต่อสาธารณะ หรือให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องแสดงใบเสร็จทุกครั้งเมื่อมีการใช้จ่าย รวมถึงควบคุมนักการเมืองให้ทำงานการเมืองบนพื้นฐานความจริง เช่นไม่สัญญาเรื่อยเปื่อยมากมายเพื่อคะแนนเสียงว่าจะทำโน่นนี่นั่น (ซึ่งทำไม่ได้) หากได้รับการเลือกตั้ง ฯลฯ เป็นต้น

ผู้เขียนบทวิเคราะห์ย้ำในตอนท้ายว่า ประชาธิปไตย คือผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ของการปะทะกันทางความคิดในศตวรรษที่ยี่สิบ ถ้าเราต้องการให้ประชาธิปไตยยังดำรงอยู่อย่างประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดเหมือนที่เคยเป็นมาในศตวรรษก่อนหน้า เราจะต้องดูแลประชาธิปไตยตั้งแต่ยังเป็นหน่ออ่อนด้วยความมุ่งมั่นพากเพียร และเมื่อประชาธิปไตยหยั่งรากเติบโตแล้ว เราก็ต้องผดุงรักษาไว้ด้วยความใส่ใจระมัดระวัง

ทั้งหมดนี้ มิได้นำไปสู่ข้อสรุปสำหรับประเทศไทยว่า การเลือกตั้งมิใช่องค์ประกอบเดียวของประชาธิปไตย ดังนั้น อภิสิทธิชนกลุ่มหนึ่งซึ่งตั้งตัวเป็นคนดีเสียงดังของประเทศจึงสมควร “แต่งตั้ง” คนดีพวกฉันมาบริหารบ้านเมืองได้

หนึ่งในหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ซึ่งมิได้อ้างถึงในบทความอาจเพราะมันพื้นฐานมากก็คือ แม้การเลือกตั้งจะไม่ใช่องค์ประกอบเดียวของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งก็เป็นองค์ประกอบจำเป็นขั้นต่ำ (minimum requirement) ที่ขาดไม่ได้ เช่นเดียวกับค่าจ้างขั้นต่ำในการทำงาน

รากปัญหาประชาธิปไตยในสังคมไทยที่จำเป็นต้องปฏิรูปหลังการเลือกตั้ง มีมากกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวชินวัตร ซึ่งถูกแปะป้ายเป็นผู้ร้ายถาวร ไม่มีใครอื่นอีกเป็นผู้ร้าย และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยพฤติกรรมซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย เช่นหักหาญน้ำใจคนออกไปเลือกตั้งด้วยการใช้กฎหมู่และอำนาจนอกระบบไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อแต่งตั้งคนกลางฝ่ายตนมาบริหารบ้านเมืองแทน 






มีการพูดถึงสถานะของ "รัฐบาลรักษาการณ์" (Caretaker Government) ปัจจุบันว่าสิ้นสภาพไปผ่านการอ้างอิงตาม ม.๑๒๗ ของรัฐธรรมนูญ ผมขออนุญาตอธิบายเรื่องนี้นะครับว่าการจะอ่านและพิจารณาตีความรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องอยู่บน "หลักเอกภาพของรัฐธรรมนูญ" (Unity of the Constitution) ที่ว่าด้วยเรื่องกลไกของ...ระบบรัฐธรรมนูญที่มีความเชื่อมโยงกันอยู่ โดยการอ่านและตีความต้องอ้างอิงจากถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญประกอบกันไปทั้งหมด ดังนั้น การพิจารณาเรื่องรัฐบาลรักษาการณ์ต้องพิจารณาเป็นระบบตามลำดับดังนี้

๑. การพิจารณาตามถ้อยคำของรัฐธรรมนูญ : ต้องเข้าไปพิจารณาดูว่ามีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ที่กล่าวถึงรัฐบาลรักษาการณ์ทั้งนี้เนื่องจากจะได้นำไปสู่การพิจารณาถึงสถานะและการใช้อำนาจหน้าที่ของเขาต่อไป ซึ่งปรากฏว่าอยู่ใน ม.๑๘๑

๒. การพิจารณาตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ : เมื่อมีการลาออกของคณะรัฐมนตรีก็ดี มีการประกาศยุบสภาก็ดี ม.๑๘๑ ให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ขึ้นก็เพื่อทำหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดสภาวะสุญญากาศในการบริหารประเทศ

๓. การพิจารณาตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ : ตามหลักการแล้วเห็นว่าเมื่อปรากฏว่าฝ่ายบริหารของรัฐนั้นสิ้นสภาพไปแล้ว จึงต้องการให้มี "กลไกในการเปลี่ยนผ่านประเทศ" กล่าวคือ การบริหารประเทศนั้นจะไม่สะดุดหยุดอยู่เนื่องจากจะกระทบต่อสาธารณะ หรือสังคมส่วนรวมได้ จึงกำหนดให้มี "ฝ่ายบริหารชั่วคราว" ซึ่งก็คือฝ่ายบริหารเดิมที่สิ้นสภาพไปมาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศไม่ให้หยุดชะงักตาม "หลักความต่อเนื่องไม่ขาดสายของการบริหารประเทศ" (Continuity of Executive Power) จนกว่าจะได้ฝ่ายบริหารชุดใหม่มา "รับไม้ต่อ" เพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศตามปกติต่อไป

การที่เราไปพิจารณา ม.๑๒๗ (ซึ่งปกติจะใช้บังคับเมื่อมีการเลือกตั้งเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว) เลยโดยไม่พิจารณาถึงบริบทและเจตจำนงค์ต่างๆ ของการบังคับใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองข้าม ม.๑๘๑ ไปทั้งๆ ที่เป็นบทบัญญัติเฉพาะว่าด้วยสถานะของรัฐบาลรักษาการณ์ ซึงมีความเชื่อมโยงและลำดับในการพิจารณาตีความก่อนหลังอยู่ จึงอาจทำให้เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสถานะของรัฐบาลรักษาการณ์ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แท้จริงได้นั่นเอง

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
See More